ยินดีต้อนรับสู่เว็บบล็อกของ บาทหลวงวิรัช นารินรักษ์ ผู้ทำการแทนผู้รับใบอนุญาต และผู้จัดการโรงเรียนเซนต์ยอแซฟสกลนคร : ศึกษาดี มีวินัย ใฝ่คุณธรรม

วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

กีฬาภายใน ซยส.2556


เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2556 โรงเรียนเซนต์ยอแซฟสกลนคร โดยคุณพ่อวิรัช นารินรักษ์ ผู้จัดการ ซิสเตอร์ไมตรี สมจันทร์ ผู้อำนวยการ และคณะครูได้จัดการแข่งขันกีฬาภายในประจำปีการศึกษา 2556 โดยได้เริ่มตั้งขบวนพาเหรดนักกีฬาที่ลานพระราชานุสาวรีย์รัชการที่ 5 แล้วเดินพาเหรดผ่านตัวเมืองสกลนครไปที่สนามมิ่งเมือง ตลอดระยะทางมีประชาชนชมขบวนจำนวนมาก สร้างความตื่นเต้นดีใจแก่เด็กนักเรียนเป็นอย่างมาก จากนั้นจึงใช้รถสองแถวใหญ่หลายคันรับนักเรียน 1,700 คนมาทำพิธีเปิดที่สนามกีฬาโรงเรียนเซนต์ยอแซฟสกลนคร โดยพระคุณเจ้าหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ พระอัครสังฆราชอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงเป็นประธาน

วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เทศกาลลอยพระประทีปพระราชทาน สิบสองเพ็งไทสกล

เทศกาลลอยพระประทีปพระราชทาน สิบสองเพ็งไทสกล
ขบวนอัญเชิญพระประทีปพระราชทานใน "เทศกาลลอยพระประทีปพระราชทาน สิบสองเพ็งไทสกล" จังหวัดสกลนคร ประจำปี 2556 บริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ (สระพังทอง)

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

วันภาวนาเพื่อกระแสเรียก
หัวข้อรำพึง : พระคริสตเจ้าเป็นนายชุมพาบาลที่ดี พระองค์ทรงนำเราสู่หนทางชีวิตนิรันดร
          การ “รับฟัง” และการ “เชื่อฟัง” เสียงของผู้เป็นนายเป็นภาพพจน์ที่น่ารัก และอบอุ่นที่เราสัมผัสได้ในชีวิตประจำวัน เราเห็นภาพของลูกๆ ที่เชื่อฟังพ่อแม่ บรรดาศิษย์ที่เชื่อฟังอาจารย์ ตลอดจนบุคคลต่างๆ ที่เชื่อฟังกันและกัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความรัก ความสุข และสันติสุขที่แท้จริง
          เรารับฟังเสียงของพระอาจารย์เจ้า คือพระเยซูคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ซึ่งตรัสกับเราทางพระคัมภีร์ พระวาจาของพระองค์เร่งเร้า และกระตุ้นเราให้ติดตามพระองค์อย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ เพราะว่าพระวาจาของพระองค์ชี้แสดงให้เราเห็นอย่างชัดเจนถึงความสุขแห่งการได้เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า
          ภาพลักษณ์ที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงใช้เพื่อพูดถึงสถานะแห่งความสุขนี้คือ ภาพลักษณ์แห่งการเป็นชุมพาบาลผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลและรับผิดชอบฝูงแกะ โดยพระบิดาเจ้าของเราก็ใช้ภาพลักษณ์นี้ในการมอบเราให้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของพระบุตรของพระองค์ ผู้ซึ่งจะนำเราไปสู่สถานะแห่งชีวิตนิรันดร
          ภาพของฝูงแกะที่ได้รับการปกป้องจากชุมพาบาลเป็นเรื่องที่ธรรมดามากในชุมชนชาวยิวที่พระเยซูเจ้าได้ดำรงชีวิตอยู่ ทั้งนี้เพราะภูมิประเทศที่เป็นหินผาสูง และเต็มไปด้วยอันตราย การดูแลฝูงแกะให้ปลอดภัยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นต้องทำนั่นเอง ในทางกลับกันฝูงแกะก็จะรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ใกล้ผู้ดูแลและฟังแต่เสียงของเขาเท่านั้น แต่ชีวิตจริงในปัจจุบันนี้เราอยู่ใกล้ใครและกำลังฟังเสียงของใครอยู่
          พระศาสนจักรก็เป็นเหมือนฝูงแกะที่อยู่ภายใต้การนำของพระเยซูเจ้า หากไม่เป็นเช่นนี้สมาชิกก็จะกระจัดกระจายไป ดังนั้นเสียงเรียกของพระเยซูเจ้าจึงเป็นสิ่งจำเป็นอันดับแรกที่เราต้อง “รับฟัง” และ “เชื่อฟัง”

วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ทำอย่างไรถึงเรียกว่ากตัญญู


ทำอย่างไรถึงเรียกว่ากตัญญู

1.ท่านเลี้ยงเรามา เราจงเลี้ยงท่านตอบ บิดา มารดา มีพระคุณกับผู้เป็นบุตรหาประมาณมิได้ ท่านเลี้ยงเรามาตั้งแต่เด็ก ลำบากมากมาย ผู้เป็นบุตรจึงควรตอบแทนพระคุณท่าน เพราะความเป็นผู้รู้คุณเริ่มจากเดี๋ยวนี้ คือ ดูแลท่าน ไม่ว่าจะเป็นข้าว ปลา อาหาร การช่วยเหลืองานบ้านต่างๆ แทนที่ท่านจะทำ ก็ช่วยแบ่งเบาภาระ ตามความสามารถของตนที่จะมีในเรื่องนั้น
2.จักรับทำกิจของท่าน สิ่งใดที่เป็นงานของท่าน ทั้งในบ้านและนอกบ้าน คือ การงานของท่าน หากเราพอมีความสามารถ แม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นผู้ยินดีอาสาที่จะช่วยท่านเพื่อแบ่งเบาภาระของผู้เป็นบิดา มารดาที่มีภาระมากและได้เลี้ยงดูเรามา ไม่ใช่ว่าจะทำกิจของตนคือเรียนหนังสือ หรือทำงานของตนเท่านั้น
3.จักดำรงวงศ์ตระกูล การดำรงวงศ์ตระกูลของบุตร คือ การประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดีรักษาวงศ์ตระกูล เมื่อเป็นคนดี รู้จักสิ่งที่ควรหรือไม่ควร ย่อมรักษาทรัพย์สินเงินทองของบิดามารดา ไม่ทำให้ทรัพย์สินเงินทองของท่านพินาศ ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย เพราะนั่นเป็นทรัพย์สมบัติของท่านที่หามาได้ด้วยแรงกายแรงใจของท่าน การไม่ตั้งใจเรียน เกเร ก็ย่อมได้ชื่อว่าไม่รักษาวงศ์ตระกูล เมื่อรักษาทรัพย์ได้ รู้จักปฏิบัติตนให้เหมาะสม ตั้งใจเรียน ไม่เกเร ก็ได้ชื่อว่ารักษาวงศ์ตระกูลได้ ไม่ทำให้วงศ์ตระกูลเสียหาย ทั้งชื่อเสียงและทรัพย์สิน แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติตนไม่ดี ก็ทำลายวงศ์ตระกูล ทั้งชื่อเสียง คำว่าร้ายจากคนอื่นที่มีต่อบิดามารดาและวงศ์ตระกูลเรา การรักษาวงศ์ตระกูลที่ประเสริฐสูงสุด คือ ให้บิดามารดา ออกจากวงศ์อธรรม คือความไม่ดี ออกจากอกุศล มีความเห็นผิด ให้ตั้งอยู่ในวงศ์ของธรรม วงศ์ของความดี ที่ถูกด้วยการให้ความเข้าใจพระธรรม ชื่อว่าเป็นบุตรที่ดำรงวงศ์ตระกูลไว้ได้อย่างสูงสุด
4.จักปฏิบัติตนให้เป็นผู้สมควรรับทรัพย์มรดก บุตรที่ทำตัวไม่ดี หรือไม่กตัญญูบิดามารดา ก็ไม่ชื่อว่าสมควรรับมรดกจากบิดามารดา แต่การทำตนเป็นคนดี ตั้งใจเรียน ไม่เกเร รู้จักใช้จ่าย เป็นต้น ได้ชื่อว่าเป็นผู้สมควรรับมรดกจากบิดามารดา
5.เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน ผู้เป็นบุตรที่ดี คือ ต้องมีความกตัญญูรู้คุณของท่านไม่ว่าท่านจะมีชีวิตอยู่หรือล่วงลับไปแล้ว เพราะเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว สิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ก็คือการทำบุญและอุทิศส่วนกุศลไปให้

ความกตัญญู


ความกตัญญู

ความกตัญญู คือ การรู้สึกสำนึกในคุณ ด้วยแสดงความเคารพ นับถือ เชื่อฟัง และช่วยเหลือในกิจการงานต่างๆ การกระทำเช่นนี้ ย่อมนำมาซึ่งความสุข ความเจริญ และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและหน้าที่การงาน ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี การที่เยาวชนไทยได้รับการปลูกฝังคุณลักษณะที่ดีในเรื่องของความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณถือเป็นเรื่องที่ดี เป็นการสร้างภูมิ คุ้มกันให้สังคม การเลี้ยงดูของครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยอบรมและส่งเสริมพฤติกรรมของเยาวชน ให้มีคุณลักษณะของการเป็นคนมีความกตัญญู ความตระหนักรู้ในคุณของบุคคล สัตว์ และสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อตนเองทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
การแสดงออกต่อผู้มีพระคุณมีลักษณะดังนี้
1. ประกาศคุณท่าน คือ การประกาศว่าผู้มีพระคุณของเราดีอย่างไรบ้าง เช่น ถ้าผู้มีพระคุณเป็นพ่อแม่ ทำโดยพูดถึงพ่อแม่ให้คนอื่นฟังได้ว่า ท่านดีกับเราอย่างไร กิจกรรมที่นิยมทำกันมากคือ การทำบัตรอวยพรวันพ่อและวันแม่ แต่วิธีที่ดีที่สุดคือ ประกาศที่ตัวเอง เพราะเป็นลูกและได้รับการอบรมมาจากพ่อแม่ ฉะนั้น ความประพฤติของเด็กจะเป็นตัวประกาศคุณพ่อแม่ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
2. ตอบแทนคุณท่าน คือ เมื่อรู้ว่าท่านมีคุณหรือมีอุปการะ ต้องตอบแทน เช่น ถ้าผู้มีพระคุณเป็นพ่อแม่ ลูกสามารถตอบแทนได้โดย เป็นเด็กดี ช่วยงานบ้านง่ายๆ ประพฤติตนเป็นลูกที่ดี
ความกตัญญูมีความสำคัญอย่างไร
ความกตัญญูกตเวทีเป็นคุณธรรมที่สำคัญสำหรับมนุษยชาติ เป็นคุณธรรมพื้นฐานของมนุษย์ ทำให้มีความสัมพันธ์กันในสังคมมนุษย์และเป็นบ่อเกิดแห่งความรับผิดชอบต่อความเป็นมนุษย์ และเป็นคุณธรรมเบื้องตนของมนุษยธรรมทั้งหลาย เพราะเป็นเครื่องทำลายความเห็นแก่ตัวซึ่งเป็นศัตรูสำคัญของความดี เป็นเหตุให้เกิดความสุขุม รอบคอบ ความสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบ จำแนกความสำคัญของความกตัญญูกตเวทีได้ดังนี้
1.ความกตัญญูกตเวทีเป็นวัฒนธรรมที่ดีงาม ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมไทยได้สอดแทรกความกตัญญูกตเวทีไว้เกือบทุกเรื่อง เช่น การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตาย การบวช วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันลอยกระทง เป็นต้น
2. ความกตัญญูกตเวทีทำให้สถาบันครอบครัวและสังคมมั่นคง ซึ่งนับว่าเป็นหลักธรรมพื้นฐานที่ทำให้มนุษย์รู้จักการกระทำหน้าที่อันเหมาะสมของตนเอง โดยเริ่มจากความรับผิดชอบต่อตนเอง ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ในสถาบันครอบครัว โดยบิดามารดาทำหน้าที่ในฐานะบุพการี และบุตรธิดาปฏิบัติหน้าที่ต่อบิดามารดาในฐานะผู้มีความกตัญญูกตเวที อันจะขยายผลในระดับสังคมที่กว้างออกไป ความกตัญญูช่วยให้โลกอยู่รอดไม่มีปัญหา ปัญหาคนชราไม่มีคนเลี้ยง ปัญหาสงคราม ปัญหาความโหดร้ายทารุณ ปัญหาการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ ฯลฯ ก็จะหมดไป
3.สภาวะสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติจะสมดุลไม่ถูกทำลาย คนมีความกตัญญูย่อมระลึกถึงบุญคุณของป่าไม้ ทุ่งนา แม่น้ำ ลำธาร ถนนหนทาง และสิ่งสาธารณประโยชน์อื่นๆ ฯลฯ ช่วยกันอนุรักษ์ บำรุง รักษาให้สิ่งเหล่านั้นคงอยู่ร่วมกับมนุษย์อย่างสมดุลและกลมกลืน
4.ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี
พ่อแม่ ผู้ปกครองจะช่วยส่งเสริมความกตัญญูให้ลูกได้อย่างไร
แนวทางการจัดกิจกรรมของพ่อแม่ที่ช่วยส่งเสริมความกตัญญู เป็นเรื่องที่ไม่ยากถ้าพ่อแม่ให้การเลี้ยงดูเอาใจใส่ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกในการสร้างพฤติกรรม ดังนี้
1.กิจกรรมทางตรง คือ การส่งเสริมให้ลูกได้ปฏิบัติและทำกิจกรรมที่เป็นการปลูกฝังให้เกิดความกตัญญู เช่น สอนให้ลูกช่วยยกน้ำดื่มมาให้พ่อแม่ เมื่อกลับมาจากทำงาน การช่วยถือของเล็กๆน้อยๆ เมื่อต้องไปซื้อของ หรือการที่ลูกช่วยงานบ้านง่ายๆ พ่อแม่ควรชื่นชม และเน้นถึงความสำคัญของพฤติกรรมว่าลูกได้แสดงออกถึงความกตัญญูต่อพ่อแม่แล้ว
2.กิจกรรมทางอ้อม คือ การเป็นแบบอย่างที่ดี พ่อแม่ต้องแสดงพฤติกรรมความกตัญญูให้ลูกเห็น เช่น การซื้อของหรือการทำอาหารให้คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย หรือญาติผู้ใหญ่ที่มีพระคุณ ให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการมอบสิ่งของ หรืออธิบายสาเหตุที่ต้องแสดงความกตัญญูต่อท่านเหล่านั้นว่า ท่านมีบุญคุณอย่างไรต่อเรา ถ้าไม่ท่านเหล่านั้น เราจะเป็นอย่างไร และให้ลูกวิเคราะห์ผลของการทำกิจกรรมนั้น ไม่ว่าจะเป็นทางกาย หรือความรู้สึกอิ่มเอมทางจิตใจ เมื่อได้แสดงความกตัญญูต่อผู้อื่น

วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ลักษณะคนที่น่ารัก


ลักษณะคนที่น่ารัก ซึ่งเป็นที่รักพอใจของคนทั้งหลายเมื่อกล่าวโดยทั่วไปแล้วมี 9 ประการ คือ
1. ไม่เป็นคนอวดดี
2. ไม่พูดมากจนเขาเบื่อ
3. เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ยกตนข่มท่าน
4. เป็นคนรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว
5. เป็นคนพูดจาอ่อนหวาน
6. เป็นคนเสียสละ ไม่เอาเปรียบผู้อื่น
7. เป็นคนกตัญญูกตเวที
8. เป็นคนไม่มีนิสัยริษยาเสียดสีผู้อื่น
9. เป็นคนมีนิสัยสุขุม รอบคอบ
เมื่อได้รับรู้แล้ว เรามาเป็นคนที่น่ารักกันนะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ข้อคิดสะกิดใจ

ข้อคิดสะกิดใจ
ผมได้อ่านข้อเขียนของคุณพ่อวรยุทธ กิจบำรุง พระสงฆ์อัครสังฆมณฑลกรุงทพ ในวารสารเพื่อนสงฆ์ คุณพ่อเขียนไว้ว่า “ชีวิตสงฆ์ : ความนบนอบ คือ หนทางไปสู่ความสุข สงบ ความสำเร็จ และความศักดิ์สิทธิ์” พออ่านแล้วก็รู้สึกประทับใจ สำหรับผมเห็นว่าสมบูรณ์ ครบถ้วน เพราะในชีวิตสงฆ์จะเอาอะไรมากกว่านี้ ผมจึงมานั่งรำพึงกับตัวเองและนำข้อเขียนของคุณพ่อมาเปรียบเทียบกับชีวิตของพระเยซูเจ้า จึงเห็นว่า:-
“ความสุข” ของพระเยซูจ้าไม่ได้อยู่ที่การนั่งบนหลังลา มีผู้คนห้อมล้อม ยกย่องสรรเสริญ แต่อยู่ที่ความนบนอบที่ทำให้พระองค์ลงจากหลังลา แล้วยอมให้เขาเอาไปตรึงกางเขน
“ความสุข” ของพระเยซูจ้าไม่ได้อยู่ที่งานเลี้ยงที่เมืองคานา แต่อยู่ที่ความเคารพเชื่อฟังคำเสนอวิงวอนของประชากรที่ผ่านทางแม่พระ ถึงกับทำให้หมายสำคัญ (การเปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่น) มาถึงเร็วขึ้นที่เมืองคานาแห่งนั้น
“ความสงบ” ของพระเยซูเจ้าไม่ได้อยู่ที่การถือศีล สวดภาวนาบนภูเขาจนปีศาจเกิดอิจฉามาประจญ แต่อยู่ที่การไม่แสดงอิทธิฤทธิ์ตามคำท้าทายของปีศาจ แต่ยอมอ่อนน้อมถ่อมตนต่อพระประสงค์ของพระบิดา
“ความสงบ” ของพระเยซูเจ้าไม่ได้อยู่ที่การสวดภาวนาที่สวนมะกอก แต่อยู่ที่การยอมรับแผนการไถ่ให้รอด แม้จะต้องหลั่งเลือด และจนกระทั่งถึงชีวิตก็ตาม
“ความสำเร็จ” ของพระเยซูเจ้าไม่ได้อยู่ที่การรวบรวมบรรดาสานุศิษย์ แต่อยู่ที่การยอมรับความจำกัดของสานุศิษย์แต่ละคน และมอบความไว้วางใจให้พวกเขาทำงาน
“ความศักดิ์สิทธิ์” ของพระเยซูเจ้าไม่ได้อยู่ที่การทำอัศจรรย์ การทวีขนมปัง การเดินบนผิวน้ำ การปลุกลาซารัสให้ฟื้นจากตาย แต่อยู่ที่ความนอบน้อมต่อพระบิดาเจ้า จนพระบิดาไม่อาจทนเห็นความลำบากของประชากรเหล่านั้น จึงให้เกิดอัศจรรย์ต่างๆขึ้น
และอยู่ที่ความนอบน้อมต่อพระบิดาเจ้าจนสมกับรางวัลแห่งการกลับคืนพระชนมชีพอย่างรุ่งโรจน์ของพระองค์
เมื่อเราเลือกทางของพระเยซูเจ้าแล้ว ก็ต้องยอมรับจิตตารมณ์ของพระองค์ในเรื่องความนบนอบ ความรักและรับใช้ซึ่งกันและกันด้วย ในสมัยนั้นพระองค์ทวีขนมปังและปลาเลี้ยงคนจำนวนมาก ในทุกวันนี้พระองค์ยังมอบเลือดเนื้อให้เป็นอาหารของเราทางศีลมหาสนิท
คุณแม่เทเรซา แห่งกัลกัตตา กล่าวไว้ว่า “ไม่สำคัญว่าท่านปฏิบัติกิจการยิ่งใหญ่ขนาดไหน แต่สำคัญว่าท่านใส่ความรักลงไปในกิจการนั้นเท่าไร ไม่สำคัญว่าท่านให้มากขนาดไหนแต่สำคัญว่าท่านใส่ความรักลงไปในการให้มากน้อยเท่าไร”
ดังนั้น จึงขอให้เราได้รับพระพรแห่งความสุภาพอ่อนน้อม พระพรแห่งการรักและรับใช้ผู้อื่นตามแบบอย่างของพระเยซูเจ้า เมื่อได้ปฏิบัติแล้วแม้จะมีความทุกบ้าง แต่การได้รับทุกเพราะทำความดีถ้าเป็นที่ชอบพระทัยพระองค์ก็ดีกว่าจะต้องทนทุกเพราะการประพฤติชั่ว (1 ปต.3:17) และความทุกทรมาน อุปสรรค ปัญหาจะเกิดได้ก็เท่าที่พระเป็นเจ้าทรงอนุมัติเท่านั้น
คุณพ่อวิรัช นารินรักษ์ (พ่อเณร)

วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เรื่องในหลวง ที่เราอาจจะไม่เคยรู้

เรื่องในหลวง ที่เราอาจจะไม่เคยรู้
1. ทรงพระราชสมภพเวลา 08.45.
2. นายแพทย์ผู้ทำคลอดชื่อ ดับลิว สจ๊วต วิตมอร์ ทรงมีน้ำหนักแรกประสูติ 6 ปอนด์
3. พระนามภูมิพลได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
4. พระยศเมื่อแรกประสูติ คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ภูมิพลอดุลยเดช
5. ทรงมีชื่อเล่นว่า เล็ก หรือ พระองค์เล็ก
6. ทรงเคยเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนมาแตร์เดอี เพราะช่วงพระชนมายุ 5 พรรษาทรงเคยเข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ 1 ปี มีพระนามในใบลงทะเบียนว่า ‘H.H Bhummibol Mahidol’ หมายเลขประจำตัว 449
7. ทรงเรียกสมเด็จพระราชชนนีหรือสมเด็จย่า อย่างธรรมดาว่าแม่
8. สมัยทรงพระเยาว์ ทรงได้ค่าขนม อาทิตย์ละครั้ง
9. แม้จะได้เงินค่าขนมทุกอาทิตย์ แต่ยังทรงรับจ้างเก็บผักผลไม้ไปขาย เมื่อได้เงินมาก็นำไปซื้อเมล็ดผักมาปลูกเพิ่ม
10. สมัยพระเยาว์ทรงเลี้ยงสัตว์หลายชนิดทั้งสุนัข กระต่าย ไก่ นกขุนทอง ลิง แม้แต่งูก็เคยเลี้ยง ครั้งหนึ่งงูตายไปก็มีพิธีฝังศพอย่างใหญ่โต
11. สุนัขตัวแรกที่ทรงเลี้ยงสมัยทรงพระเยาว์เป็นสุนัขไทยทรงตั้งชื่อให้ว่าบ๊อบบี้
12. ทรงฉลองพระเนตร(แว่นสายตา)ตั้งแต่พระชันษายังไม่เต็ม 10 ขวบ เพราะครูประจำชั้นสังเกตเห็นว่าเวลาจะทรงจดอะไรจากกระดานดำพระองค์ต้องลุกขึ้นบ่อยๆ
13. สมัยพระเยาว์ทรงซนบ้าง หากสมเด็จย่าจะลงโทษ จะเจรจากันก่อนว่า โทษนี้ควรตีกี่ที ในหลวงจะทรงต่อรองว่า 3 ทีมากเกินไป 2 ทีพอแล้ว
14. ระหว่างประทับอยู่ สวิตเซอร์แลนด์นั้นระหว่างพี่น้องจะทรงใช้ภาษาฝรั่งเศส แต่จะใช้ภาษาไทยกับสมเด็จย่าเสมอ
15. ทรงได้รับการอบรมให้รู้จักการให้โดยสมเด็จย่าจะทรงตั้งกระป๋องออมสินเรียกว่ากระป๋องคนจนเอาไว้ หากทรงนำเงินไปทำกิจกรรมแล้วมีกำไร จะต้องถูกเก็บภาษีหยอดใส่กระปุกนี้ 10% ทุกสิ้นเดือนสมเด็จย่าจะเรียกประชุมเพื่อถามว่าจะเอาเงินในกระป๋องนี้ไปทำอะไร เช่น มอบให้โรงเรียนตาบอด มอบให้เด็กกำพร้า หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน
16. ครั้งหนึ่ง ในหลวงกราบทูลสมเด็จย่าว่าอยากได้รถจักรยาน เพราะเพื่อนคนอื่นๆ เขามีจักรยานกัน สมเด็จย่าก็ตอบว่าลูกอยากได้จักรยาน ลูกก็ต้องเก็บค่าขนมไว้สิ หยอดกระป๋องวันละเหรียญ ได้มาก ค่อยเอาไปซื้อจักรยาน
17. กล้องถ่ายรูปกล้องแรกของในหลวง คือ Coconet Midget ทรงซื้อด้วยเงินสะสมส่วนพระองค์ เมื่อพระชนม์เพียง 8 พรรษา
18. ช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทรงปั่นจักรยานไปโรงเรียนแทนรถพระที่นั่ง
19. พระอัจฉริยภาพของในหลวง มีพื้นฐานมาจากการเล่นสมัยทรงพระเยาว์ เพราะหากอยากได้ของเล่นอะไรต้องทรงเก็บสตางค์ซื้อเอง หรือ ประดิษฐ์เอง ทรงเคยหุ้นค่าขนมกับพระเชษฐา ซื้อชิ้นส่วนวิทยุทีละชิ้นๆ แล้วเอามาประกอบเองเป็นวิทยุ แล้วแบ่งกันฟัง
20. สมเด็จย่าทรงสอนให้ในหลวงรู้จักการใช้แผนที่และภูมิประเทศของไทย โดยโปรดเกล้าฯให้โรงเรียนเพาะช่างทำแผนที่ประเทศไทยเป็นรูปตัวต่อ เลื่อยเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆเพื่อให้ทรงเล่นเป็นจิ๊กซอว์
21. ในหลวงทรงเครื่องดนตรีได้หลายชนิด เช่น เปียโน กีตาร์ แซกโซโฟน แต่รู้หรือไม่ว่าเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ทรงหัดเล่นคือ หีบเพลง (แอกคอร์เดียน)
22. ทรงสนพระทัยดนตรีอย่างจริงจังราวพระชนม์ 14-15 พรรษา ทรงซื้อแซกโซโฟนมือสองราคา 300 ฟรังก์มาหัดเล่น โดยใช้เงินสะสมส่วนพระองค์ครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งสมเด็จย่าออกให้
23. ครูสอนดนตรีให้ในหลวง ชื่อ เวย์เบรชท์ เป็นชาว อัลซาส
24. ทรงพระราชนิพนธ์เพลงครั้งแรก เมื่อพระชนมพรรษา 18 พรรษา เพลงพระราชนิพนธ์แรกคือแสงเทียนจนถึงปัจจุบันพระราชนิพนธ์เพลงไว้ทั้งหมด 48 เพลง
25. ทรงพระราชนิพนธ์เพลงได้ทุกแห่ง บางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องดนตรีช่วย อย่างครั้งหนึ่งทรงเกิดแรงบันดาลพระทัย ทรงฉวยซองจดหมายตีเส้น 5 เส้นแล้วเขียนโน้ตทำนองเพลงขึ้นเดี๋ยวนั้น กลายเป็นเพลงเราสู้
26. รู้ไหม…? ทรงมีพระอุปนิสัยสนใจการถ่ายภาพเหมือนใคร : เหมือนสมเด็จย่า และ รัชกาลที่ 5
27. นอกจากทรงโปรดการถ่ายภาพแล้ว ยังสนพระทัยการถ่ายภาพยนตร์ด้วย ทรงเคยนำภาพยนตร์ส่วนพระองค์ออกฉายแล้วนำเงินรายได้มาสร้างอาคารสภากาชาดไทย ที่ รพ.จุฬาฯ รพ.ภูมิพล รวมทั้งใช้ในโครงการโรคโปลิโอและโรคเรื้อนด้วย
28. ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องนายอินทร์และติโตทรงเขียนด้วยลายพระหัตถ์ แล้วให้เสมียนพิมพ์ แต่พระมหาชนกทรงพิมพ์ลงในเครื่องคอมพิวเตอร์
29. ทรงเล่นกีฬาได้หลายชนิด แต่กีฬาที่ทรงโปรดเป็นพิเศษได้แก่ แบดมินตัน สกี และ เรือใบ ทรงเคยได้เหรียญทองจากการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในกีฬาแหลมทอง(ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกีฬาซีเกมส์‘) ครั้งที่ 4 ปี พ..2510
30. ครั้งหนึ่ง ทรงเรือใบออกจากฝั่งไปได้ไม่นานก็ทรงแล่นกลับฝั่ง และตรัสกับผู้ที่คอยมาเฝ้าฯว่า เสด็จฯกลับเข้าฝั่งเพราะเรือแล่นไปโดนทุ่นเข้า ซึ่งในกติกาการแข่งเรือใบถือว่าฟาวส์ ทั้งๆที่ไม่มีใครเห็น แสดงให้เห็นว่าทรงยึดกติกามากแค่ไหน
31. ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ได้รับสิทธิบัตรผลงานประดิษฐ์คิดค้นเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่มลอย หรือกังหันชัยพัฒนาเมื่อปี 2536
33. ทรงเป็นผู้ริเริ่มการพัฒนาเชื้อเพลิงน้ำมันจากวัสดุการเกษตรเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน เช่น แก๊สโซฮอล์ ดีโซฮอลล์ และ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว
34. องค์การสหประชาชาติ ได้ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ แด่ในหลวงเมื่อ วันที่ 26 พฤษภาคม 2549 เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย โดยมี นายโคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ เดินทางมาถวายรางวัลด้วยตนเอง
35. พระนามเต็มของในหลวง : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรา มหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
36. รักแรกพบ ของในหลวงและหม่อมสิริกิติ์เกิดขึ้นที่สวิสเซอร์แลนด์ แต่เหตุการณ์ครั้งนั้น สมเด็จพระบรมราชินีนาถฯทรงให้สัมภาษณ์ว่าน่าจะเป็น เกลียดแรกพบ มากกว่ารักแรกพบ เนื่องเพราะรับสั่งว่าจะเสด็จถึงเวลาบ่าย 4 โมง แต่จริงๆแล้วเสด็จมาถึงหนึ่งทุ่ม ช้ากว่าเวลานัดหมายตั้งสามชั่วโมง
37. ทรงหมั้นกับ ม...สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2492 และจัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ที่วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493 โดยทรงจดทะเบียนสมรสเหมือนคนทั่วไป ข้อความในสมุดทะเบียนก็เหมือนคนทั่วไปทุกอย่าง ปิดอากรแสตมป์ 10 สตางค์ เสียค่าธรรมเนียม 10 บาท 37. หลังอภิเษกสมรส ทรงฮันนีมูนที่หัวหิน
38. ทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2499 และประทับจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา 15 วัน
39. ระหว่างทรงผนวช พระอุปัชฌาย์และพระพี่เลี้ยง คือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
40. ของใช้ส่วนพระองค์นั้นไม่จำเป็นต้องแพงหรือต้องแบรนด์เนม ดังนั้นการถวายของให้ในหลวงจึงไม่จำเป็นจะต้องเป็นของแพง อะไรที่มาจากน้ำใจจะทรงใช้ทั้งนั้น
41. เครื่องประดับ : ในหลวงไม่ทรงโปรดสวมเครื่องประดับ เช่น แหวน สร้อยคอ ของมีค่าต่างๆ ยกเว้น นาฬิกา 42. พระเกศาที่ทรงตัดแล้ว : ส่วนหนึ่งเก็บไว้ที่ธงชัยเฉลิมพลเพื่อมอบแก่ทหาร อีกส่วนหนึ่งเก็บไว้สร้างวัตถุมงคล เพื่อมอบแก่ราษฎรที่ทำคุณงามความดีแก่ประเทศชาติ
43. หลอดยาสีพระทนต์ ทรงใช้จนแบนราบเรียบคล้ายแผ่นกระดาษ โดยเฉพาะบริเวณคอหลอด ยังปรากฏรอยบุ๋มลึกลงไปจนถึงเกลียวคอหลอด ซึ่งเป็นผลจากการใช้ด้ามแปรงสีพระทนต์ช่วยรีด และ กดเป็นรอยบุ๋ม
44. วันที่ในหลวงเสียใจที่สุด คือวันที่สมเด็จย่าเสด็จสวรรคต มีหนังสือเล่าไว้ว่า วันนั้นในหลวงไปเฝ้าแม่ถึงตีสี่ตีห้าพอแม่หลับจึงเสด็จฯกลับเมื่อถึงวัง ทางโรงพยาบาลก็โทรศัพท์มาแจ้งว่า สมเด็จย่าสิ้นพระชนม์แล้ว ในหลวงรีบกลับไปที่โรงพยาบาล เห็นแม่นอนหลับตาอยู่บนเตียง ในหลวงคุกเข่าเข้าไปกราบที่อกแม่ ซบหน้านิ่งอยู่นานค่อยๆเงยพระพักตร์ขึ้นมาน้ำพระเนตรไหลนอง
45. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จนถึงปัจจุบันมีจำนวนกว่า 3,000 โครงการ
46. ทุกครั้งที่เสด็จฯไปยังสถานต่างๆจะทรงมีสิ่งของประจำพระองค์อยู่ 3 สิ่ง คือ แผนที่ซึ่งทรงทำขึ้นเอง(ตัดต่อเอง ปะกาวเอง) กล้องถ่ายรูป และดินสอที่มียางลบ
47. ในหลวงทรงงานด้วยพระองค์เองทุกอย่างแม้กระทั่งการโรเนียวกระดาษที่จะนำมาให้ข้าราชการที่เข้าเฝ้าฯถวายงาน
48. เก็บร่ม : ครั้งหนึ่งเมื่อในหลวงเสด็จฯเยี่ยมโครงการห้วยสัตว์ใหญ่ เมื่อเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งมาถึง ปรากฏว่าฝนตกลงมาอย่างหนัก ข้าราชการและราษฎรที่เข้าแถวรอรับเปียกฝนกันทุกคน เมื่อทรงเห็นดังนั้น จึงมีรับสั่งให้องครักษ์เก็บร่ม แล้วทรงเยี่ยมข้าราชการและราษฎรทั้งกลางสายฝน
49. ทรงศึกษาลักษณะอากาศทุกวัน โดยใช้ข้อมูลที่กรมอุตุนิยมวิทยานำขึ้นทูลเกล้าฯ ร่วมกับข้อมูลจากต่างประเทศที่หามาเอง เพื่อป้องกันภัยธรรมชาติที่อาจก่อความเสียหายแก่ประชาชน
50. โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เริ่มต้นขึ้นจากเงินส่วนพระองค์จำนวน 32,866.73บาท ซึ่งได้จากการขายหนังสือดนตรีที่พระเจนดุริยางค์ จากการขายนมวัว ก็ค่อยๆเติบโตเป็นโครงการพัฒนามาจนเป็นอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้
51. เวลามีพระราชอาคันตุกะเสด็จมาเยี่ยมชมโครงการฯสวนจิตรลดา ในหลวงจะเสด็จฯลงมาอธิบายด้วยพระองค์เอง เนื่องจากทรงรู้ทุกรายละเอียด
52. ...คึกฤทธิ์ ปราโมช กราบบังคมทูลถามว่า เคยทรงเหนื่อยทรงท้อบ้างหรือไม่ ในหลวงตอบว่าความจริงมันน่าท้อถอยอยู่หรอก! บางเรื่องมันน่าท้อถอย แต่ว่าฉันท้อไม่ได้ เพราะเดิมพันของเรานั้นสูงเหลือเกิน เดิมพันของเรานั้นคือบ้านเมือง คือความสุขของคนไทยทั่วประเทศ
53. ทรงนึกถึงแต่ประชาชน แม้กระทั่งวันที่พระองค์ทรงกำลังจะเข้าห้องผ่าตัดกระดูกสันหลังในอีก 5 ชั่วโมง (20 กรกฎาคม 2549) ยังทรงรับสั่งให้ข้าราชบริพารไปติดตั้งคอมพิวเตอร์เดินสายออนไลน์ไว้ เพราะกำลังมีพายุเข้าประเทศ พระองค์จะได้มอนิเตอร์ เผื่อน้ำท่วมจะได้ช่วยเหลือทัน
54. อาหารทรงโปรด : โปรดผัดผักทุกชนิด เช่น ผัดคะน้า ผัดถั่วงอก ผัดถั่วลันเตา
55. ผักที่ไม่โปรด : ผักชี ต้นหอม และตังฉ่าย
56. ทรงเสวย ข้าวกล้อง เป็นพระกระยาหารหลัก
57. ไม่เสวยปลานิล เพราะทรงเป็นผู้เลี้ยงปลานิลคนแรกในประเทศไทย โดยใช้สระว่ายน้ำในพระตำหนักสวนจิตรลดาเป็นบ่อเลี้ยง แล้วแจกจ่ายพันธุ์ไปให้กรมประมง
58. เครื่องดื่มทรงโปรด : โปรดโอวัลตินเป็นพิเศษ เคยเสวยวันหนึ่งหลายครั้ง
59. ทีวีช่องโปรด ทรงโปรดข่าวช่องฝรั่งเศส ของยูบีซี เพื่อทรงรับฟังข่าวสารจากทั่วโลก
60. ทรงฟัง จส.100 และเคยโทรศัพท์ไปรายงานสถานการณ์ต่างๆใน กทม.ไปที่ จส.100 ด้วย โดยใช้พระนามแฝง
61. หนังสือที่ในหลวงอ่าน : ตอนเช้าตื่นบรรทม ในหลวงจะเปิดดูหนังสือพิมพ์รายวันทั้งไทยและเทศ ทุกฉบับ และก่อนเข้านอนจะทรงอ่านนิตยสารไทม์ส นิวสวีก เอเชียวีก ฯลฯ ที่มีข่าวทั่วทุกมุมโลก
62. ร้านตัดเสื้อของในหลวง คือ ร้านยูไลย เจ้าของชื่อ ยูไลย ลาภประเสริฐ ถวายงานตัดเสื้อในหลวงมาตั้งแต่ปี 2501 เมื่อนายยูไลยเสียชีวิต ก็มี ลูกชาย นายสมภพ ลาภประเสริฐ มาถวายงานต่อ จนถึงตอนนี้ก็เกือบ 50 ปีแล้ว
63. ห้องทรงงานของในหลวง อยู่ใกล้ห้องบรรทม บนชั้น 8 ของตำหนักจิตรลดาฯเป็นห้องเล็กๆ ขนาด 3x4 เมตร ภายในห้องมีวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องบันทึกเสียง เครื่องพยากรณ์ แผนที่ ฯลฯ
64. สุนัขทรงเลี้ยง นอกจากคุณทองแดง สุวรรณชาด สุนัขประจำรัชกาล ที่ปัจจุบันอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล แล้ว ยังมีสุนัขทรงเลี้ยงอีก 33 ตัว
65. ในหลวง เกิดจากคำที่ชาวเหนือใช้เรียกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่านายหลวงภายหลังจึงเปลี่ยนเป็น ในหลวง
66. ทรงเชี่ยวชาญถึง 6 ภาษา คือ ไทย ละติน ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน และ สเปน
67. อาชีพของในหลวง เมื่อผู้แทนพระองค์ไปติดต่อเอกสารสำคัญใดๆทรงโปรดให้กรอกในช่อง อาชีพ ของพระองค์ว่าทำราชการ
68. ในหลวงทรงพระเนตรเทียมข้างขวา เป็นผลจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ รถพระที่นั่งชนกับรถบรรทุกอย่างแรง ทำให้เศษกระจกเข้าพระเนตรข้างขวา ตอนนั้นมีอายุเพียง 20 พรรษา และทรงใช้พระเนตรข้างซ้ายข้างเดียว ในการทำงานบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนชาวไทยมาตลอดกว่า 60 ปี
69. ครั้งหนึ่งหนังสือพิมพ์อเมริกันลงข่าวลือเกี่ยวกับในหลวงว่า แซกโซโฟนที่ทรงอยู่เป็นประจำนั้นเป็นแซกโซโฟนที่ทำด้วยทองคำเนื้อแท้บริสุทธิ์ ซึ่งได้มีพระราชดำรัสว่าอันนี้ไม่จริงเลย สมมติว่าจริงก็จะหนักมาก ยกไม่ไหวหรอก
70. ปีหนึ่งๆ ในหลวงทรงเบิกดินสอแค่ 12 แท่ง ใช้เดือนละแท่ง จนกระทั่งกุด
71. หัวใจทรงเต้นไม่ปรกติ ในหลวงเคยประชวรหนักจนหัวใจเต้นไม่ปกติ เนื่องจากติดเชื้อไมโครพลาสม่า ขณะขึ้นเยี่ยมราษฎรที่อำเภอสะเมิงติดต่อกันหลายปี
72. รู้หรือไม่ว่า ในหลวงเป็นคนประดิษฐ์รูปแบบฟอนต์ภาษาในคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้อย่าง ฟอนต์จิตรลดา ฟอนต์ภูพิงค์
73. ในนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี จัดขึ้นที่อิมแพ็ค มีประชาชนเข้าชมรวม 6 ล้านคน
74. ในหลวงเริ่มพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกเมื่อปี พ..2493 จน 29 ปีต่อมาจึงมีผู้คำนวณว่าเสด็จพระราชทานปริญญาบัตร 490 ครั้ง ประทับครั้งละ 3 ชม. ทรงยื่นพระหัตถ์พระราชทาน 470,000 ครั้ง น้ำหนักปริญญาบัตรฉบับละ 3 ขีด รวมน้ำหนักทั้งหมด 141 ตัน
75. ดอกไม้ประจำพระองค์ คือ ดอกดาวเรือง
76. สีประจำพระองค์คือ สีเหลือง
77. นั่งรถหารสอง : ทรงรับสั่งกับข้าราชบริพารเสมอว่า การนั่งรถคนละคันเป็นการสิ้นเปลือง จึงให้นั่งรวมกัน ไม่โปรดให้มีขบวนรถยาวเหยียด
http://www.chaoprayanews.com/2012/06/01/บทความเกี่ยวกับในหลวง-/ดูเพิ่มเติม

สักการสถานดวงพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเยซูเจ้าและดวงหทัยนิรมลของพระมารดามารีอา สกลนคร

ลิงสองลิง...

*ลิงสองลิง ชิงบัลลังก์ น่าชังล้น /คนสองคน ชิงตำแหน่ง น่าแช่งกว่า /ของแย่งชิง หลุดลอย ไปไม่ได้มา /ต่างขายหน้า หนีไม่พ้น คนกับลิง *หากลิงค่าง ต่างแย่งกัน นั่นมันสัตว์ /แม้นฝึกหัด ก็ไม่วาย ออกลายสิงห์ /เรามนุษย์ สุดประเสริฐ ล้ำเลิศจริง /ไม่อายลิง มันบ้าง หรืออย่างไร *
โดย ณ เณร 25/11/2554

ขอได้รับความขอบคุณ

ขอได้รับความขอบคุณจาก คุณพ่อเปโตร วิรัช นารินรักษ์