ยินดีต้อนรับสู่เว็บบล็อกของ บาทหลวงวิรัช นารินรักษ์ ผู้ทำการแทนผู้รับใบอนุญาต และผู้จัดการโรงเรียนเซนต์ยอแซฟสกลนคร : ศึกษาดี มีวินัย ใฝ่คุณธรรม

วันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ทำอะไรสักนิด โอกาสพระคริสตสมภพ

ทำอะไรสักนิด โอกาสคริสตสมภพ
เราทุกคนต่างรอคอยความสุขแห่งพระคริสตสมภพ แต่การที่เราจะสามารถมีความสุขที่แท้จริงได้ ก็ต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระเยซูคริสตเจ้า ซึ่งรวมไปถึงการปฏิบัติกิจเมตตาปราณีแก่ผู้อยู่ในความต้องการด้วย ดังนั้น โลกทุกวันนี้จึงต้องการผู้ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้อื่นเป็นอย่างมาก แต่ค่อนข้างที่จะเป็นไปไม่ได้ในการเอาใจใส่คนอื่นในขณะที่เราเองปรนเปรอความต้องการของตนเองอยู่ เช่นเดียวกัน หากเราเชิดชูความต้องการของมนุษย์แล้ว พระประสงค์ของพระเจ้าก็ดูเหมือนจะถูกทำให้ด้อยค่าลงไปจากความหลงผิดของเรา แต่หากเราปฏิบัติตามพระประสงค์อย่างสมบูรณ์ ก็เท่ากับว่าเราได้เติมเต็มตัวเราด้วยปรีชาญาณที่จะนำเราเข้าสู่ความสุขแห่งการบังเกิดขององค์พระกุมาร และความปลอดภัยฝ่ายวิญญาณนั่นเอง
เพื่อหวังความสุขและความปลอดภัยอันนี้เราจึงยึดมั่นในศาสนา สำหรับบางคน การนับถือศาสนาก็คือการเชื่อฟังบทบัญญัติ กฎศีลธรรม และข้อบังคับอื่นๆ ของศาสนาอย่างเคร่งครัด แต่สำหรับอีกบางคนก็เพียงแต่ทำสิ่งดีเพียงเล็กน้อยพอไม่ให้มีผิดก็เป็นการเพียงพอ หรือไม่ผิดบทบัญญัติก็พอแล้ว พวกนี้จึงมักมีคำถามว่า “ผมต้องทำสิ่งนี้ด้วยหรือ” หรือพูดว่า “อย่างน้อยฉันก็ทำสิ่งดีไปแล้ว” แต่สิ่งที่พวกนี้ไม่รู้ก็คือ ความยินดีเมื่อได้ทำมากกว่านั้น ซึ่งเป็นจิตตารมณ์ของพระเยซูคริสตเจ้าเอง เพราะพระองค์เกิดมาเพื่อทำตามพระประสงค์ของพระบิดาเจ้า
เมื่อมองดูชีวิตของเราจึงมีสิ่งต่างๆ มากมายที่เราต้องปรับปรุงแก้ไข ลด ละ เลิกในชีวิตของเรา เพื่อให้เหมาะสมจะรับพระพรแห่งการบังเกิดขององค์พระกุมาร โอกาสพระคริสตสมภพปีนี้ จึงขอให้เราทำอะไรที่เพิ่มขึ้นจากที่เคยทำสัก 3 อย่าง คือ
1) ลดความอิจฉาริษยา เรารู้สึกอิจฉาก็เพราะมีความคิดผิดๆ ว่า หากเรามีในสิ่งที่คนอื่นเขามี หากเราเป็นในสิ่งที่เขาเป็นนั้น เราก็จะมีความสุข แต่แท้จริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ พลังแห่งความอิจฉาที่ผลักดันเราให้ทำสิ่งที่เป็นอันตรายต่อบุคคลอื่นๆ นั้น นับว่าชั่วร้ายมากจนกระทั่งถูกนับเป็น 1 ในบาปต้น 7 ประการ ความอิจฉาจึงเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มแรกของมนุษยชาติ เราจะหลีกเลี่ยงหรือป้องกันไม่ให้ความอิจฉาฝังรากลึกในจิตใจได้อย่างไร
ก. ยอมรับว่าความอิจฉาเกิดขึ้นได้กับทุกคน ความรู้สึกอิจฉาไม่เลวร้ายเสมอไป แต่การยึดเอาไว้และการกระทำตามนั่นแหละ เมื่อความอิจฉามาก็ต้องขอความเข้มแข็งจากพระเยซูคริสตเจ้าขจัดออกไป
ข. ยึดหลักคำสอนของพระเยซูคริสตเจ้า เพราะความสุขไม่ได้อยู่ที่สิ่งของของโลกนี้ แต่อยู่ที่การรับใช้พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์
2) ลดการยึดตนเองเป็นหลัก ถ้าจิตใจเรายึดมั่นหลักการใด ก็เป็นการยากที่จะเปลี่ยนใจยอมรับสิ่งอื่น โอกาสนี้ให้เรามายึดเอาพระเยซูคริสตเจ้าเป็นหลักในชีวิตจะดีกว่า
3) ลดการโกหกหลอกลวง และเพิ่มความซื่อสัตย์ คุณแม่เทเรซา แห่งกัลกัตตา เน้นเสมอถึงความซื่อสัตย์ในสิ่งเล็กน้อยเหล่านี้โดยกล่าวว่า “สิ่งเล็กน้อยก็เพียงสิ่งเล็กน้อยจริงๆ แต่การซื่อสัตย์ต่อสิ่งเหล่านั้นกลับกลายเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ เพราะไม่ใช่ว่าเราทำมากเท่าไร แต่เราใส่ความรักมากเท่าไรในการกระทำนั้น ไม่ใช่ว่าเราให้มากเท่าไร แต่เราใส่ความรักมากเท่าไรในการให้นั้น”
ดังนั้น ชีวิตของเราจึงเป็นเหมือนแปลงเพาะกล้า ถ้าเราบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความดี ก็จะกลายเป็นบุญลาภใหญ่หลวงสำหรับเรา แต่หากเราบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความชั่ว ก็จะกลายเป็นพยศชั่วที่ติดตัวเราไป
ขอพระพรแห่งพระคริสตสมภพจงอยู่กับทุกท่านตลอดไป
เปโตร วิรัช นารินรักษ์
บ้านเณรแสงธรรม

วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2553

พระนางมารีย์ในพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่

การบอกเล่าอย่างชัดเจนถึงเรื่องราวบทบาทที่พระนางพรหมจารีมารีย์ทรงมี ซึ่งปรากฏแรกสุดในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ (ถูกบันทึก 50 ปีหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า) แม้มองดูแล้วจะไม่มีความสำคัญมากนัก แต่ก็มีบทบาทที่เด่นชัด เราจึงต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับข้อเท็จจริงมูลฐานนี้ ในฐานะที่เป็นพระวจนะของพระเป็นเจ้า

พระนางมารีย์ตามธรรมประเพณีคริสตชน

สัจธรรมเรื่องพระแม่มารีย์ในธรรมประเพณีคริสตชน
บทนำ
ความเคารพนับถือพระแม่มารีย์ของคริสตชนนั้นได้ค่อยๆ เติบโตมาช้านาน ตั้งแต่ศตวรรษแรกๆ ทีเดียว ความศรัทธาภักดีของคริสตชนต่อพระแม่มารีย์ได้กลายเป็นศูนย์กลางแนวทางแห่งชีวิตจิต และศิลปะในธรรมประเพณีคาทอลิก และออร์โธดอกซ์ ซึ่งเห็นได้ ตั้งแต่ปี 150 A.D. ซึ่งมีภาพวาดปูนเปียกตามฝาผนัง มีรูปแม่พระและพระกุมารเยซูเจ้าในกาตากอมบ์ Priscilla ที่โรม มีบทภาวนาถึงแม่พระ มีบทสดุดี มีพิธีกรรมวิงวอนถึงแม่พระ และมีการฉลองต่างๆ เพื่อเทิดเกียรติพระนางด้วย นอกนั้นมีการตั้งชื่ออาสนวิหาร ชื่อคณะนักบวช และแม้แต่ชื่อของปีในนามของพระแม่มารีย์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นการแสดงออกถึงความศรัทธาภักดี และความรักผูกพันของบรรดาคริสตชนต่อพระแม่มารีย์ ก่อนที่จะมีข้อคำสอนทางการเกี่ยวกับแม่พระในพระศาสนจักรเสียอีก
การพัฒนาข้อคำสอนเกี่ยวกับพระนางมารีย์ในพระศาสนจักรนั้น ค่อยๆ เติบโตตามจังหวะในแต่ละช่วงเหมือนลูกคลื่นที่ก่อตัวขึ้นมา แล้วพุ่งไปข้างหน้า แตกกระจายแล้วไหลย้อนกลับมา จนกว่าคลื่นลูกใหม่มากระทบให้มันพุ่งไปไกลกว่าเดิม (จึงเป็นลักษณะขาดความต่อเนื่อง) ทั้งนี้การพัฒนาข้อคำสอนเกี่ยวกับพระแม่มารีย์ จะเกิดขึ้นตามธรรมประเพณีที่ยึดถือหรือปฎิบัติของแต่ละสมัยในความศรัทธาภักดีต่อพระนางมารีย์ในด้านต่างๆ ซึ่งบ่อยครั้งก่อให้เกิดปัญหา และการโต้แย้งอย่างรุนแรง ที่สุดก็สงบลง ซึ่งเราแบ่งออกเป็น 5 ช่วงดังนี้
1. สมัยปิตาจารย์ ถึง สมัยสภาสังคายนาเมืองเอเฟซัส (ค.ศ.100-431)
2. จากสมัยสภาสังคายนาเมืองเอเฟซัส ถึงสมัยการปฎิรูปของพระสันตะปาปาเกรโกรี (ประมาณ ค.ศ. 1050)
3. จากปลายศตวรรษที่ 11 ถึงปลายสภาสังคายนาเมืองเตรนท์ (ค.ศ.1563)
4. สมัยหลังจากสภาสังคายนาเมืองเตรนท์ ถึงสภาสังคายนาวาติกันที่ 2
5. สมัยสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ถึง สมัยปัจจุบัน

ลิงสองลิง...

*ลิงสองลิง ชิงบัลลังก์ น่าชังล้น /คนสองคน ชิงตำแหน่ง น่าแช่งกว่า /ของแย่งชิง หลุดลอย ไปไม่ได้มา /ต่างขายหน้า หนีไม่พ้น คนกับลิง *หากลิงค่าง ต่างแย่งกัน นั่นมันสัตว์ /แม้นฝึกหัด ก็ไม่วาย ออกลายสิงห์ /เรามนุษย์ สุดประเสริฐ ล้ำเลิศจริง /ไม่อายลิง มันบ้าง หรืออย่างไร *
โดย ณ เณร 25/11/2554

ขอได้รับความขอบคุณ

ขอได้รับความขอบคุณจาก คุณพ่อเปโตร วิรัช นารินรักษ์